สนใจลงโฆษณา โทร 076210624 หรือ Email: pr_studioline@hotmail.com Line ID: studioline93 ขอเพลง โทร 076216988 ,
       
 

ทำความรู้จักหนอนตัวแบนนิวกินี หนอนเอเลี่ยนนี้อันตรายแค่ไหน ?

2017-11-15

มาทำความรู้จักหนอนตัวแบนนิวกินี หนอนเอเลี่ยนที่มีการค้นพบในหลายจังหวัดของประเทศไทย และมีกระแสว่าหนอนตัวแบนนิวกินีอันตราย เรื่องราวเป็นยังไงมาค้นความจริงกันเลย

สิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้มีอยู่หลายชนิดจนเราเองก็รู้จักไม่ครบ อย่างหนอนตัวแบนนิวกินีที่จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่นอกประเทศไทย แต่จู่ ๆ กลับพบหนอนเอเลี่ยนชนิดนี้ในประเทศไทย แน่นอนว่าความตระหนกตกใจเมื่อเห็นสัตว์รูปร่างแปลก ๆ ในบ้านเราย่อมเกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ ฉะนั้นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน กระปุกดอทคอมจะพาไปทำความรู้จักหนอนตัวแบนนิวกินี หรือหนอนเอเลี่ยนชนิดนี้กันค่ะ

หนอนตัวแบนนิวกินี มาจากไหน

หนอนตัวแบนนิวกินี (New Guinea Flatworm) เป็นหนอนที่มีถิ่นกำเนิดอยู่บนเกาะนิวกินี โดยถูกพบครั้งแรกที่จังหวัดปาปัว ทางฝั่งตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย หนอนตัวแบนนิวกินีมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Platydemus manokwari เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสองเพศในตัวเดียวกัน และจากพฤติกรรมรุกรานระบบเชิงนิเวศวิทยาของหนอนตัวแบนนิวกินี ทางสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) จึงจัดให้หนอนตัวแบนนิวกินีเป็นหนึ่งในร้อยสัตว์รุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลก (100 of the World's Worst Invasive Alien Species) ด้วย
หนอนแบนนิวกินี
หนอนตัวแบนนิวกินี มีลักษณะอย่างไร
หนอนตัวแบนนิวกินีหรือหนอนเอเลี่ยนที่หลาย ๆ คนเรียกขาน มีลักษณะลำตัวยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร (ขนาดโตเต็มที่) รูปร่างจะออกแบนและมีปลายแหลมทั้งด้านหัวและหาง โดยด้านหัวจะเป็นทรงแหลมเล็กกว่าด้านหาง สีลำตัวของหนอนนิวกินีด้านหลังจะเป็นสีน้ำตาลเข้มออกดำ มีลายสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเหลืองพาดกลางลำตัวตามแนวยาว ด้านท้องสีขาวและมีจุดสีขาวเล็ก ๆ ค่อนไปทางด้านหางซึ่งเป็นส่วนปาก

หนอนตัวแบนนิวกินีเป็นหนอนที่กินหอยทากเป็นหลัก แต่ทั้งนี้หนอนตัวแบนนิวกินียังกินทากเปลือย ไส้เดือน และตัวกะปิด้วย และเวลาออกล่าเหยื่อจะเป็นช่วงกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ โดยหนอนตัวแบนนิวกินีจะหาเหยื่อด้วยการตามกลิ่นเมือกของหอยไป และเมื่อเจอเหยื่อก็จะปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยเนื้อหอยทากก่อนจะดูดกินหอยทากเข้าไป

หนอนนิวกินี แพร่กระจายมายังประเทศไทยได้อย่างไร

การแพร่กระจายของหนอนนิวกินีไปยังประเทศต่าง ๆ สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากภาวะระบาดของหอยทากยักษ์ในแถบประเทศแอฟริกัน ซึ่งทางแอฟริกันก็หวังจะใช้หนอนตัวแบนนิวกินีไปกำจัดหอยทากยักษ์ดังกล่าว ทว่าเมื่อปล่อยให้หนอนนิวกินีจัดการหอยทากยักษ์ตัวเจ้าปัญหา ก็กลับพบว่าเจ้าหนอนตัวแบนชนิดนี้ไม่เพียงแต่กำจัดหอยทากยักษ์เท่านั้น แต่ยังฆ่าหอยท้องถิ่นชนิดอื่น ๆ ในระบบนิเวศจนสูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความไม่สมดุลของระบบนิเวศขึ้นมา

อีกทั้งเมื่อหนอนตัวแบนนิวกินีอาศัยอยู่นอกถิ่นกำเนิดก็จะเกิดภาวะขาดการควบคุมจำนวนประชากร เนื่องจากไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติอย่างในถิ่นกำเนิดของตัวเอง ดังนั้นหนอนตัวแบนนิวกินีจึงสามารถขยายจำนวนเพิ่มขึ้นมากมาย และแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น ฝรั่งเศส อเมริกา (รัฐฟลอริดา) และประเทศสิงคโปร์ ได้
หนอนแบนนิวกินี
ภาพจาก iflscience.com

ส่วนการเข้ามาในไทยของหนอนตัวแบนนิวกินีนั้น มีการสันนิษฐานว่าหนอนชนิดนี้อาจติดมากับดินที่ใส่ต้นไม้ ลัง หรือกล่องไม้ที่มาจากประเทศต้นทาง และการค้นพบหนอนตัวแบนนิวกินีก็เริ่มมาจาก นายมงคล อันทะชัย ได้พบสิ่งมีชีวิตลักษณะแปลก ๆ ในบริเวณบ้านแถบอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 และได้โพสต์ภาพหนอนตัวแบนนิวกินี กำลังกินหอยทากในกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (siamensis.org) เพื่อสอบถามว่าเป็นสัตว์ชนิดใด กระทั่งนำไปสู่การตรวจสอบจนมั่นใจว่าเป็นหนอนชนิดดังกล่าวจริง ๆ

อย่างไรก็ตาม ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ กลุ่ม siamensis.org ระบุว่า จากการเข้าไปตรวจสอบ ยืนยันว่ามีการแพร่กระจายของหนอนตัวแบนนิวกินีจริง โดยขณะนี้พบหนอนตัวแบนนิวกินีในพื้นที่ กทม., จ.เชียงใหม่, จ.สงขลา, จ.ปทุมธานี และ จ.ชลบุรี ซึ่งถือว่าเป็นรายงานครั้งแรกในไทย และเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการระบาดในประเทศที่เป็นแผ่นดิน หลังจากเคยพบการระบาดในเกาะสิงคโปร์ ขณะนี้ได้เก็บตัวอย่างมาวิจัยและศึกษาพฤติกรรมอย่างละเอียด ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว

หนอนตัวแบนนิวกินี อันตรายต่อคนหรือไม่

อาจเคยได้ยินว่า หนอนตัวแบนนิวกินีมีพิษ ถึงขนาดที่ไปสัมผัสเข้าจะทำให้ผิวไหม้ แต่จริง ๆ แล้ว หนอนชนิดนี้ไม่มีพิษอย่างที่เข้าใจกัน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ควรไปส้มผัส เพราะหนอนชนิดนี้เป็นพาหะนำโรคที่ติดต่อมาสู่คนได้

โดย ดร.นณณ์ เผยว่า หนอนตัวแบนนิวกินี เป็นพาหะแพร่เชื้อ Angiostrongylus cantonensis หรือพยาธิปอดหนู/พยาธิหอยโข่ง ซึ่งติดต่อสู่คนได้ ทว่าพยาธิมีหนูเป็นพาหะหลักจึงไม่สามารถเจริญเติบโตจนครบวงจรในร่างกายมนุษย์ได้ แต่ตัวอ่อนจะไปอาศัยอยู่ในระบบประสาทส่วนกลางของผู้ติดเชื้อและตายลง ทำให้เกิดการอักเสบในเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะปวดหัวอย่างรุนแรง เป็นไข้ อาเจียน คอแข็ง ตาพร่ามัว ท้องเสีย และปวดกล้ามเนื้อ แต่ถ้ามีการติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้พยาธิดังกล่าวในประเทศไทยก็มีสัตว์หลายชนิดที่เป็นพาหะอยู่แล้ว เช่น หอยทากยักษ์แอฟริกา และหอยในกลุ่มหอยโข่ง/ขม โดยจะเข้าสู่ร่างกายคนผ่านทางการกิน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการกินหอยที่ไม่สุก รวมไปถึงล้างทำความสะอาดผักในบริเวณที่มีหอยทากและหนอนตัวแบนอาศัยอยู่ก่อนรับประทาน หรือรับประทานเฉพาะผักที่สุกแล้วเท่านั้น และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่ไม่ได้ผ่านการต้มหรือกรองมาก่อน โดยเฉพาะในแหล่งที่มีหอยและหนอนตัวแบนนิวกินีอาศัยอยู่

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค ระบุว่า กรณีที่หนอนตัวแบนนิวกินีเป็นพาหะนำเชื้อโรคสู่คน ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบนั้น ต้องศึกษากันต่อไป ถึงแม้จะมีรายงานพบพยาธิที่สามารถนำเชื้อโรคสู่คนได้นั้น แต่ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อโรคพยาธิปอดหนู ที่มาจากหนอนตัวแบนนิวกินี ส่วนที่มีรายงานคือ ติดโรคจากการกินหอยสุก ๆ ดิบ ๆ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่ให้ระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหาร ขอให้ถูกสุขอนามัย โดยเน้น "สุก ร้อน สะอาด"
หนอนแบนนิวกินี
  

Back to Top