เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2561 เว็บไซต์เดลี่เมล เผยรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าช็อกโกแลตอาจจะหมดไปจากโลกภายใน 30-40 ปีข้างหน้า เนื่องจากต้นโกโก้ ประสบปัญหาเจริญเติบโตได้ยากภายในสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น โดยรายงานเผยว่า ต้นโกโก้สามารถเจริญเติบโตได้แค่ภายในพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร และต้องมีอุณหภูมิประมาณ 20 องศาเซลเซียส รวมทั้งยังต้องมีปัจจัยจำกัดอื่น ๆ อีก เช่น มีความชื้นสูงและมีฝนมาก
เมื่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นและพื้นดินสูญเสียน้ำเพิ่มมากขึ้น ทางด้านนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มีโอกาสน้อยที่ปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นเพียงพอเพื่อชดเชยการสูญเสียความชุ่มชื้นนั้น นั่นหมายถึงพื้นที่การเพาะปลูกต้นโกโก้ จะต้องถูกย้ายขึ้นไปปลูกในพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา เพื่อที่จะรักษาพันธุ์ของมันเอาไว้ก่อนที่จะถึงปี 2593 ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้หลายประเทศ อาทิ โกตดิวัวร์ และกานา ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตช็อกโกแลตมากกว่าครึ่งของโลก จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ลำบากที่ยากจะตัดสินใจได้ว่า ควรจะรักษาพันธุ์ช็อกโกแลตเอาไว้ หรือรักษาระบบนิเวศที่กำลังจะตายไป
เมื่อปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า โลกกำลังเดินหน้าไปสู่ภาวะช็อกโกแลตขาดตลาด เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาเริ่มมีการนิยมบริโภคของหวานมากขึ้น โดยรายงานการวิจัยชื่อ Destruction by Chocolate (การเสื่อมสลายของช็อกโกแลต) พบว่า ทั่วไปแล้วผู้บริโภคฝั่งตะวันตกกินช็อกโกแลตบาร์โดยเฉลี่ยคนละ 286 บาร์ต่อปี และปริมาณจะเพิ่มขึ้นหากเป็นชาวเบลเยียม โดยช็อกโกแลต 286 บาร์ ผู้ผลิตจะต้องปลูกต้นโกโก้ 10 ต้น เพื่อนำไปผลิตเป็นโกโก้ และเนย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตช็อกโกแลต
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2533 พบว่าผู้คนกว่าพันล้านคนจากจีน, อินโดนีเซีย, อินเดีย, บราซิล และรัสเซีย ได้เริ่มเข้าสู่ตลาดการบริโภคโกโก้มากขึ้น แม้ความต้องการจะเพิ่มขึ้น แต่ทางผู้ผลิตไม่ได้มีการกักตุนผลผลิตโกโก้ ส่งผลให้ปริมาณของผลผลิตดังกล่าวลดน้อยลง
ดัก ฮอว์กินส์ จากบริษัทวิจัยของ Hardman Agribusiness ในกรุงลอนดอน สหรัฐฯ กล่าวว่า สถานการณ์การผลิตโกโก้อยู่ภายใต้ความตึงเครียด เนื่องจากกระบวนวิธีการเพาะปลูกไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมานับร้อย ๆ ปี โดยเขากล่าวว่า "โกโก้ไม่เหมือนกับพืชชนิดอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง และมีเทคนิคการจัดการพืชที่ทำให้มองเห็นศักยภาพทางพันธุกรรมของพวกมันได้มากมาย โดยมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตโกโก้ทั่วโลก ถูกผลิตขึ้นโดยเกษตรกรรายย่อยที่ล้วนทำสวนแบบธรรมดา โดยอุปกรณ์การเพาะปลูกที่ไม่ได้รับการพัฒนาแต่อย่างใด"
นอกจากนี้ รายงานบางฉบับยังชี้ให้เห็นว่า เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ในประเทศโกตดิวัวร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตโกโก้อันดับต้น ๆ ของโลก ได้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเขตสงวนอย่างผิดกฎหมาย เพื่อเพาะปลูกโกโก้ตามความต้องการของตนเอง ซึ่งฮอว์กินส์ ชี้ว่า มันเป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่การทำลายช็อกโกแลตเช่นกัน โดยฮอว์กินส์ ได้ระบุว่า จากปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ส่งผลให้โลกอาจจะต้องเผชิญกับภาวะช็อกโกแลตขาดตลาด 100,000 ตันต่อปี ในอีกไม่กี่ปีถัดไปนี้