|
|||||||||||||||||
|
|
||||||||||||||||
ทำความรู้จัก หมีขอ หรือ บินตุรง สัตว์ป่าคุ้มครองหน้าคล้ายหมีแต่ไม่ใช่หมี !
2018-10-10
หมีขอ หรือ บินตุรง สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์น่ารักหน้าตาคล้ายหมีแต่ไม่ใช่หมี มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ไหน แล้วจริง ๆ เป็นสัตว์ในกลุ่มใดกันแน่หนอ มาหาคำตอบพร้อม ๆ กันค่ะ
เรื่องของสัตว์ป่ากลายเป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากมีข่าวการจับกุมแก๊งออฟโรดพร้อมซาก "หมีขอ" ในอุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี [อ่านข่าว : อดีตปลัดเอี่ยวฆ่าหมีขอ เจตนาโกหกเข้าเขตหวงห้าม - พบหลักฐานเพิ่ม กราม-ขนสัตว์] วันนี้กระปุกดอทคอมขอรวบรวมข้อมูลของ หมีขอ สัตว์ป่าคุ้มครอง ที่มีลักษณะคล้ายหมี แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่หมี มาให้ได้รู้จักมากขึ้นกันค่ะ
ถิ่นที่อยู่
หมีขอ หรือ บินตุรง (Binturong) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Arctictis Binturong เป็นสัตวป่าที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศในฐานะผู้กระจายเมล็ดพืชและควบคุมประชากรสัตว์ฟันแทะ ที่แม้ชื่อจะขึ้นต้นด้วยหมี แต่จริง ๆ แล้วเป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับชะมดและอีเห็น พบได้ในหลายประเทศตั้งแต่ภูฐาน ภาคตะวันออกเฉียงเหรือของอินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา พรมแดนระหว่างเวียดนามกับกัมพูชา มาเลเซีย เกาะสุมาตรา เกาะชวา เกาะบอร์เนียวอินโดนีเซีย และเกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์
ลักษณะ
หมีขอ จัดเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสัตว์ตระกูลเดียวกัน มีความยาวช่วงหัวถึงลำตัวประมาณ 61-96.5 เซนติเมตร ความยาวจากโคนหางถึงปลายหางประมาณ 50-84 เซนติเมตร น้ำหนักอยู่ที่ 9-20 กิโลกรัม มีรูปร่างหน้าตามีคล้ายคลึงกับหมี ลำตัวปกคลุมด้วยขนสีดำ ยกเว้นบริเวณขนบริเวณหัวที่อาจจะเป็นสีเทา โดยขนมีลักษณะยาวและหยาบ ส่วนตากับหูมีลักษณะกลมขนาดเล็ก ขอบหูมีขนสีขาว หลังใบหูมีขนค่อนข้างยาวขึ้นเป็นกระจุก มีหางยาวเป็นพวงคล้ายหางกระรอก แต่ปลายหางด้านหนึ่งจะไม่มีขนไว้ใช้เกาะเกี่ยวต้นไม้ และสามารถว่ายน้ำได้
แหล่งอาศัยและอาหาร
ในช่วงกลางวัน หมีขอ มักจะนอนหลับตามโพรงไม้หรือยอดไม้รกทึบ ส่วนมากมักจะอาศัยอยู่ลำพัง แต่บางครั้งก็อาศัยอยู่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ประกอบด้วยแม่กับลูก และจะออกหากินในเวลากลางคืนช่วงพลบค่ำถึงรุ่งสาง ซึ่งอาหารของหมีขอจะเป็นผลไม้และสัตว์ที่มีขนาดเล็ก เช่น หนู กระรอก นก หนอน แมลง รวมถึงใบไม้และยอดอ่อน โดยจะหากินบนต้นไม้มากกว่าบนพื้นดิน
การสืบพันธุ์
หมีขอ เป็นสัตว์ที่ไม่มีฤดูผสมพันธ์ที่แน่นอน แต่ส่วนมากจะออกลูกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ระยะตั้งท้องประมาณ 90 วัน ตกลูกปีละ 2 ครอก ครอกละ 1-2 ตัว อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 18 ปี
หมีขอ เลี้ยงได้ไหม
ปัจจุบัน หมีขอ ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ลำดับที่ 194 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งห้ามไม่ให้ผู้ใดล่าหรือมีไว้ในครอบครอง และค้าขาย หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 4 ปี หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คราวนี้ก็ได้ทราบกันแล้วว่า หมีขอ หรือ บินตุรง แม้จะมีหน้าตาคล้ายหมี แต่ก็ไม่ใช่หมีอย่างชื่อเรียก และตอนนี้ก็กลายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและอยู่ในกลุ่มใกล้เสี่ยงสูญพันธุ์ มาช่วยกันรักษาหมีขอในฐานะผู้ช่วยรักษาระบบนิเวศของป่าให้อยู่คู่ป่ากันไปนาน ๆ นะคะ