|
|||||||||||||||||
|
|
||||||||||||||||
9 ต้นไม้กินแมลง พืชแปลกน่าปลูก เลี้ยงง่าย ดูแลไม่ยาก
2019-07-03
พืชกินแมลง มีอะไรบ้าง ? มาดูต้นไม้กินแมลง 9 ชนิด ต้นไม้จัดสวนสวยแปลก น่าปลูก เลี้ยงง่าย ดูแลไม่ยาก ช่วยกำจัดแมลงได้
นอกจาก ไม้ดอก ไม้ประดับ ทั่วไปแล้ว ต้นไม้กินแมลงก็เป็นพืชอีกหนึ่งชนิดที่น่านำมาจัดสวนไม่น้อย เพราะทั้งสวยงาม แปลกตา โดดเด่น ทว่าหลายคนคงสงสัยใช่ไหมล่ะคะว่า ต้นไม้กินแมลงมีชื่ออะไรบ้างและจะเลี้ยงดูยังไง ถ้าอย่างนั้นก็ตามไปชมพืชกินแมลงที่เรารวบรวมมาฝากกันเลยค่ะ
1. กาบหอยแครง
กาบหอยแครง (Venus Flytraps) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dionaea Muscipula จัดอยู่ในวงศ์ Droseraceae เป็นต้นไม้ที่มีลำต้นเป็นกาบอยู่เหนือดิน ปลายกาบมีซี่แบบฟันปลาประมาณ 15-20 ซี่ แต่ละซี่ผลิตน้ำหวานไว้ดักจับแมลง สีสันหลากหลาย มีขนด้านใน และตัวกาบจะตายเมื่อจับเหยื่อได้ 7-10 ครั้ง ส่วนใบมีลักษณะคล้ายหัวใจ ดอกออกสีขาว แดง และแสด ก้านดอกยาว ส่วนมากบานเพียงดอกเดียว ผลเป็นฝัก มีเมล็ดข้างใน โตได้ดีในดินที่ผสมขุยมะพร้าวสับ ควรปลูกให้รากจมน้ำครึ่งหนึ่ง ชอบอากาศอบอุ่น ต้องการแสงแดดปานกลาง ไม่ต้องการน้ำมาก ไม่ต้องให้ปุ๋ยเคมีเพราะจะทำให้รากไหม้ และหมั่นเปลี่ยนวัสดุปลูกทุก ๆ 1-2 ปี
2. หม้อข้าวหม้อแกงลิง
หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Monkey Cups) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nepenthes Mirabilis จัดอยู่ในวงศ์ Nepenthaceae ลักษณะเป็นไม้เลื้อย ใบเลี้ยงคู่ มีหม้อเป็นกระเปาะห้อยอยู่ปลายใบ มีต่อมน้ำหวานล่อเหยื่อที่ปากและฝา ในกระเปาะมีขี้ผึ้งและต่อมเล็ก ๆ ผลิตน้ำย่อยที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ไว้ย่อยซากเหยื่อก่อนดูดซึมสารอาหาร ดอกออกเป็นช่อแยกแขนง แต่ละต้นแยกเพศกัน ส่วนใหญ่จะออกเมื่อโตเต็มวัย ผลเป็นทรงรี มีเมล็ดคล้ายเส้นด้ายจำนวนมาก นิยมขยายพันธุ์ด้วยการปักชำและเพาะเมล็ด ปลูกด้วยกาบมะพร้าวสับและสแฟกนัมมอส ทั้งนี้ควรเปลี่ยนกระถางเมื่อต้นมีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถปลูกกลางแจ้งได้ เพราะเป็นต้นไม้ชอบแสงแดดตลอดวันและชอบความชื้นแฉะ ควรรดน้ำลงบนดินวันละ 1-2 ครั้ง
3. หยาดน้ำค้าง
หยาดน้ำค้าง จอกบ่วาย หรือกระดุมทอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Drosera burmannii Vahl. จัดอยู่ในวงศ์ Droseraceae ลักษณะเป็นไม้ล้มลุกกินแมลงขนาดเล็ก อายุ 1 ปี ลำต้นสั้นติดกับดิน สูงประมาณ 2-3 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยว รูปมนรี มีขนสีแดงปกคลุม ปลายขนมีน้ำหวานเหนียวเพื่อดักจับแมลง ก้านใบสั้น ส่วนดอกออกเป็นช่อกลางลำต้น มีสีม่วง สีชมพู หรือสีขาว มีขนรอบกลีบรองดอก ผลเป็นทรงแคปซูล ขนาดเล็ก มีเมล็ดสีดำข้างใน ชอบดินและอากาศที่ชื้นแฉะ มักพบตามพื้นที่โล่ง ภูเขาหินทราย ทุ่งหญ้า และใกล้ลำธาร
4. หญ้าน้ำค้าง
หญ้าน้ำค้าง หรือหลายคนอาจจะรู้จักในชื่อมองบ่วาย หนามเดือนห้า และหญ้ายองไฟ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Drosera indica L. จัดอยู่ในวงศ์ Droseraceae เป็นไม้ล้มลุก อายุ 1 ปี ลำต้นเลื้อยตามดิน ส่วนยอดชูตั้ง สูงประมาณ 5-25 เซนติเมตร มีขนปกคลุมทั่วลำต้น ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ทรงเรียวยาว มีขนปกคลุม ปลายม้วนงอ มีตุ่มใสและน้ำเมือกเหนียวไว้ดักแมลง ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ เป็นสีม่วงหรือสีชมพู มักออกมากในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ผลเป็นทรงกลม ขนาดเล็ก มีเมล็ดสีดำข้างใน ชอบดินร่วนปนทรายที่มีความชื้นสูงเป็นพิเศษ มักพบตามทุ่งหญ้า พื้นที่โล่ง หรือลานหินชื้น
5. ซาราซีเนีย
ซาราซีเนีย (Sarracenia) เป็นพืชที่ได้รับฉายาว่า ราชินีแห่งต้นไม้กินแมลง เพราะทั้งสวยงามและดักแมลงดีมาก จัดอยู่ในวงศ์ Sarraceniacese เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี เหง้าอยู่ใต้ดิน ลำต้นสูงไม่เกิน 1 เมตร ใบตั้งตรง ห่อเป็นรูปกรวยคล้ายฝา ปลายใบบานออก ด้านในมีน้ำหวานล่อแมลง มีขนและขี้ผึ้งเป็นกับดัก และส่วนย่อยแมลงไว้ดูดสารอาหารไปเลี้ยงลำต้น ส่วนดอกเป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกยาวสูง ผลรีคล้ายแคปซูล มีเมล็ดเล็ก ๆ ข้างใน มักพบบริเวณที่ชื้นชุ่มน้ำ นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและแยกกอ ชอบดินผสมทรายและสแฟกนัมมอส เหมาะปลูกในที่ที่มีแสงแดดจัดปานกลางและมีความชุ่มชื้น
6. พิงกุย
พิงกุย (Pinguicula) หรือบัตเตอร์เวิร์ต (Butterwort) เป็นต้นไม้กินแมลงที่จัดอยู่ในวงศ์ Lentibulariaceae สกุล Pinguicula ลักษณะเป็นไม้ล้มลุก อวบน้ำ ขนาดเล็ก ใบเรียงสลับรอบโคนต้น บ้างเป็นสีเขียวอ่อน บ้างเป็นสีแดง ขอบใบเรียบ ผิวใบมีเมือกลื่น ๆ เหนียว ๆ ไว้ดักจับแมลง ส่องแสงแวววับเมื่อโดนแดด ส่วนดอกเป็นทรงกระบอก มีทั้งสีขาว สีเหลือง สีฟ้า สีม่วง และสีชมพู ก้านดอกชูช่อยาว ผลเป็นทรงแคปซูลและมีเมล็ดเล็ก ๆ ข้างใน ส่วนมากนิยมปลูกประดับบ้านและปลูกไล่ศัตรูพืช มักขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ และสามารถแตกต้นอ่อนที่ปลายใบเพื่อเจริญเป็นต้นใหม่ได้
7. สร้อยสุวรรณา
สร้อยสุวรรณา (Yellow Flower) หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ หญ้าสีทอง, สาหร่ายดอกเหลือง และเหลืองพิศมร เป็นดอกไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อไว้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Utricularia bifida L. อยู่ในวงศ์ Lentibulariaceae ลำต้นอยู่ใต้ดิน ไม่มีใบหรือรากจริง เป็นไม้ล้มลุก ขึ้นเป็นกอ สูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ขนาดเล็ก เรียงรอบโคนต้น ขอบเรียบ ผิวเกลี้ยง มีถุงดักจับทรงกลม ขนาดเล็ก ดอกออกเป็นช่อ สีเหลือง รูปปากเปิด ส่วนผลเป็นรูปไข่และมีเมล็ดข้างในจำนวนมาก นิยมปลูกด้วยการเพาะเมล็ด ชอบความชื้นมากและแสงแดดตลอดวัน ส่วนใหญ่พบในบริเวณที่ดินชื้นแฉะ มีน้ำขัง และตามท้องนา
8. ทิพเกสร
ทิพเกสร หรือ หญ้าฝอยเล็ก เป็นดอกไม้กินแมลงที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อไว้ โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Utricularia minutissima Vahl, Enum. จัดอยู่ในวงศ์ Lentibulariaceae ลักษณะเป็นไม้ล้มลุก อายุ 1 ปี ลำต้นมีขนาดเล็กอยู่ใต้ดิน ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปแถบ ผิวเกลี้ยง ขอบเรียบ ออกใกล้พื้นดิน และจะเปลี่ยนเป็นถุงดักจับรูปไข่ ขนาดเล็ก เมื่อต้องการจับแมลง มีดอกออกสีขาวอมม่วงอ่อน รูปปากเปิด ช่อดอกตั้งตรง ส่วนผลเป็นรูปเบี้ยวและเมล็ดเป็นรูปไข่กลับ มักขึ้นตามพื้นที่โล่งและเปียกชื้น ชอบดินชื้นแฉะ อากาศเย็น ต้องการน้ำมาก และแสงแดดจัดเต็มวัน
9. ดุสิตา
ดุสิตา หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อดอกขมิ้นหรือหญ้าข้าวก่ำน้อย เป็นต้นไม้กินแมลงอีกหนึ่งชนิดที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานนามให้ โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Utricularia delphinioides Thorel ex Pellegr. จัดอยู่ในวงศ์ Lentibulariaceae ลักษณะเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 25 เซนติเมตร อายุ 1 ปี ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอก คล้ายใบหญ้า เมื่อโตจะม้วนกลมเพื่อดักจับแมลง มีถุงดักจับที่โคนต้น รูปไข่ขวาง ขนาดเล็ก ส่วนดอกออกสีม่วง มีกลิ่นหอม แทงขึ้นจากโคนต้น มักขึ้นช่วงปลายฝนต้นหนาว มีผลคล้ายแคปซูลและเมล็ดรูปไข่สีดำอมน้ำตาล นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและแยกกอ ชอบดินร่วนปนทราย ชอบความชื้น อากาศเย็น และแสงแดดเต็มวัน มักขึ้นตามดินที่เปียกแฉะ ใกล้หนองน้ำ และตามลานหินที่มีน้ำขัง
โอ้โห แต่ละต้นสวย ๆ แปลก ๆ กันทั้งนั้น แถมยังมีให้เลือกหลากหลายสายพันธุ์อีกต่างหาก ถ้าอยากได้มาปลูกที่บ้านก็สามารถหาซื้อได้ตามตลาดต้นไม้ทั่วไป เช่น ตลาดต้นไม้สวนจตุจักร ส่วนราคาก็ขึ้นอยู่กับขนาดต้นและชนิดของพืชกินแมลง ถ้าอยากปลูกบ้างก็ลองเลือกต้นไม้ที่เรานำมาฝากไปปลูกดูนะคะ รับรองช่วยเพิ่มสีสันให้กับบ้านและช่วยลดแมลงกวนใจได้แน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิชาเกษตร, กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมอุทยานแห่งชาติ, วารสารพรรณพฤกษา และ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช