สนใจลงโฆษณา โทร 076210624 หรือ Email: pr_studioline@hotmail.com Line ID: studioline93 ขอเพลง โทร 076216988 ,
       
 

GEN Y GEN Z แชมป์ก่อหนี้ “คนรุ่นใหม่” กู้ทะลุแสนล้าน

2020-06-20


ข้อมูลจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ “เครดิตบูโร” เกี่ยวกับพฤติกรรมการก่อหน้านี้ของ “คนรุ่นใหม่” กลุ่มที่เรียกกันว่า GEN Y GEN Z ในไตรมาสแรกของปี 2563 แล้วก็ต้องเอามือกุมขมับ เพราะปรากฏว่า เติบโตอย่างน่าตกใจ

คน GEN Y หรือคนที่มีอายุระหว่าง 23-40 ปี กลายเป็น “แชมป์ก่อหนี้” ขณะที่ คน Gen Z หรือคนที่อายุระหว่าง 18-23 ปีก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้กู้หน้าใหม่” ที่มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด

รวมๆ แล้วคนรุ่นใหม่ก่อหนี้พุ่ง 200 เปอร์เซ็นต์ โดยมี Digital lending เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เข้าถึงการกู้เงินได้ง่าย ซึ่งขณะเดียวกันก็เป็นตัวเร่งให้ หนี้เสีย เพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กันด้วย

ข้อมูลจากเครดิตบูโรแจกแจงรายละเอียดเอาไว้ว่า ในไตรมาสแรก ปี 2563 GEN Z (เกิดปี 2540 - 2552) หนี้รวม 2.5 หมื่นล้านบาท หนี้เสีย (NPL) 1.2 พันล้านบาท, GEN Y (เกิดปี 2523 - 2539) หนี้รวม 4 ล้านล้านบาท หนี้เสีย (NPL) 2.7 แสนล้านบาท, GEN X (เกิดปี 2508 - 2522) หนี้รวม 3.7 ล้านล้านบาท หนี้เสีย (NPL) 2.8 แสนล้านบาท และ BABY BOOMER (เกิดปี 2489 - 2507) หนี้รวม 1.2 ล้านล้านบาท หนี้เสีย (NPL) 8.4 หมื่นล้านบาท

แยกตามประเภทสินเชื่อประเภทหลักๆ 4 ประเภท คือ สินเชื่อบัตรเครดิต จากจำนวนอนุมัติบัตรใหม่เกือบ 600,000 ใบ เป็นส่วนของ GEN Y 63% หรือประมาณ 360,000 ใบ GEN X 29% Baby Boomer 7% และ Gen Z 1% ที่น่าสนใจคือ GEN Y ที่ถือบัตรเครดิตและที่มีปัญหาในการชำระหนี้เกือบแตะ 700,000 บัตร สูงสุดทั้งจำนวนบัญชีและจำนวนหนี้ ขณะที่กลุ่ม GEN X ก็เป็นกลุ่มที่เคยมีปัญหาแต่ก็ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ซึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการผ่อนคลายการลดวงเงินขั้นต่ำ

สินเชื่อบุคคล จากจำนวน 849,894 สัญญา เป็นส่วน GEN Y 50% 400,000 กว่าสัญญา GEN X 36% Baby Boomer 12% และ GEN Z 2% ด้านการผิดนัดชำระหนี้ เช่นเดียวกันกับบัตรเครดิต คือกลุ่ม GEN Y เป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการชำระหนี้มากสุด ขณะที่ GEN X เป็นกลุ่มที่เคยมีปัญหามากแต่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว

สินเชื่อรถยนต์ จากจำนวน 475,013 สัญญา เป็นส่วนของ GEN Y 54% GEN X 35% Baby Boomer 9% และ GEN Z 2% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเช่าซื้อในไตรมาสแรกนี้ รับอานิสงส์จากโปรไฟไหม้ค่ายรถค่ายที่จะยกเลิกการขายในไทย แล้วมี GEN Z ซึ่งอายุต่ำกว่า 23 ปี โผล่มา 2% และเป็นการกู้ด้วยชื่อตนเอง ด้านการผิดชำระหนี้ GEN Y สูงสุด การเคลื่อนไหวเป็นแบบเคยมีปัญหามารอบหนึ่งที่ผ่านมา แล้วแก้ไขไปแล้ว แล้วก็กลับมาเป็นอีก ขณะที่ GEN X ก็มีลักษณะคล้าย 2 ส่วนที่แล้ว คือเคยมีปัญหาได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว

และสุดท้าย สินเชื่อบ้าน จากจำนวน 80,494 สัญญา เป็นส่วนของ GEN Y 64% GEN X 29% Baby Boomer 6% และ GEN Z 1% โดยมีข้อสังเกตได้ว่าไตรมาส 1 ปีนี้มีสินเชื่อบ้านเปิดใหม่แค่ 8 แสนกว่าสัญญา ซึ่งแต่ก่อนต้องเปิดมากกว่า 1 แสนสัญญา แนวโน้มเห็นได้ชัดเจนว่า แบงก์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อบ้าน และจะเข้มงวดขึ้นอีกเพราะมีความกังวลเรื่อง NPL ค่อนข้างมาก ดังจะเห็นได้การผิดนัดชำระหนี้ ก็เป็นส่วนของ GEN Y สูงสุด GEN X ก็มีลักษณะของการเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิต (เครดิตบูโร) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กลุ่มสินเชื่อที่น่าเป็นห่วง คือ “สินเชื่อรถยนต์” และ “สินเชื่อบ้าน” โดยสินเชื่อรถยนต์ในไตรมาสแรก มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นมาที่ 6.2% จาก 5.9%

มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ นอกจากคนรุ่นใหม่ กลุ่ม GEN Y ที่มีการก่อนหนี้อยู่ระดับสูงแล้ว ในส่วนของ GEN Z พบว่ากลุ่มนี้เป็นผู้กู้รายใหม่ที่เริ่มก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สิ่งที่น่ากังวล คือ กลุ่ม GEN Z อายุยังน้อยไม่เกิน 23 ปี ผู้กู้หน้าใหม่ซึ่งได้กลายมาเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของสถาบันการเงินเป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกรรม Digital lending ซึ่งพฤติกรรมการก่อหนี้ของ GEN Z ส่วนใหญ่อยู่ในสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อเช่าซื้อที่ไม่ใช่รถยนต์

อีกทั้ง ส่วนใหญ่เริ่มเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เริ่มต้นระดมทุนเองหรือเงินทุนจากครอบครัว มาทำธุรกิจเมื่อมีประสบการณ์จะเริ่มกู้สินเชื่อ Business loan ซึ่งตามรายงานของ TransUnion เครดิตบูโรของสหรัฐฯ ระบุว่า กลุ่ม GEN Z ผู้กู้หน้าใหม่ในประเทศไทยเติบโต 3 เท่า ซึ่งเป็นผลจาก Digital Lending เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล 24% กู้ทำธุรกิจ 32% ซึ่งเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

สำหรับ GEN Z มีการก่อหนี้อัตราเร่งที่สูงมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ช่วงไตรมาสแรก ปี 2563 กลุ่ม GEN Z มีอัตราการเติบโตของหนี้ค่อนข้างไว เฉลี่ยเดือนละ 7% นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 และเติบโตขึ้นกว่า 200 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ 2.89 แสนบัญชี ส่วนยอดหนี้รวมของคนกลุ่มนี้ ณ สิ้นไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท

ขณะที่สินเชื่อบ้านมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ลดลงราว 8 หมื่นบัญชี โดยพบว่า 64% เป็นกลุ่ม GEN Y ซึ่งมีแนวโน้มค้างชำระค่อนข้างสูง รวมถึงมีแนวโน้มเป็น NPL มากขึ้นจาก โดยคาดว่าปีนี้จะมีการเปิดบัญชีเงินกู้ใหม่ลดลงอยู่ที่ 3 แสนบัญชี เนื่องจากธนาคารกังวลปัญหา NPL รวมถึงตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้ที่เพิ่มสูงต่อเนื่อง

กลุ่ม GEN Y และ GEN Z อายุอยู่ในช่วง 20 - 40 ปี ที่มีอยู่ประมาณเกือบ 20 ล้านคิดเป็นสัดส่วน 30% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ มีปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการเรื่องการเงิน และปัญหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย
จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 พบว่า รายได้ครัวเรือนทั่วประเทศเฉลี่ย 26,018 บาทต่อเดือน ส่วนค่าใช้จ่ายของครัวเรือนมีเฉลี่ย 20,742 บาท หนี้สินเฉลี่ย 164,055 บาทต่อครัวเรือน พบปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และปัญหาการบริหารจัดการเรื่องการเงินส่วนบุคคล

“ต้องยอมรับว่า คนรุ่นใหม่มีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้รายได้ไม่พอ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับตนเอง อันดับ 1 คือ ค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัย 51% ถัดมาคือ ท่องเที่ยว 47% ความบันเทิง 39% ความสวยความงาม 38% และแฟชั่น 36% สอดคล้องกับตัวเลขของสถิติแห่งชาติที่ได้กล่าวมา จุดที่สอง เราพบว่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ GEN Y และ GEN Z น่าจะมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล ซึ่งแน่นอนว่า อันดับแรก อาจเป็นผลพวงมาจากการขาดวินัยด้านการออม” นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) ระบุ

นอกจากนี้ ข้อมูลของทางธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าคนไทยก่อหนี้ในระดับสูงตั้งแต่อายุยังน้อย และหนี้ดังกล่าวไม่ได้ลดลงเมื่อใกล้วัยเกษียณ

เห็นตัวเลขข้างต้นแล้วก็น่าเป็นห่วงไม่น้อย เพราะคน GEN Y ก็คือ คนกลุ่มใหญ่ของประเทศและแรงงานหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ขณะที่คน GEN Z ก็คือคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักของประเทศ

ทั้งนี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ สิ้นปี 2559 ได้รวมรวบข้อมูลเอาไว้ว่า กลุ่มคน GEN Y มีสัดส่วนที่มากพอๆ กับ GEN X โดย GEN Y มีสัดส่วนคิดเป็น 28% ของประชากรไทย ส่วน GEN X มีสัดส่วนคิดเป็น 27% รองลงมาคือ Baby Bloomer 18%, GEN Z 21% และ Silent Generation(ผู้ที่เกิดในระหว่าง พ.ศ.2468-2488) 6%

บทความของ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ระบุเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า คนกลุ่ม GEN Y นี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเจริญของเทคโนโลยี จึงมีความคล่องตัวด้านเทคโนโลยี มีความมั่นใจในตัวเองและมีอิสระทางความคิดสูง อีกทั้งยังเป็นยุคที่เศรษฐกิจเติบโตเป็นอย่างมาก ทำให้คนวัยทำงานในกลุ่ม GEN Y มีรายได้ค่อนข้างสูง แม้จะยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว

ในขณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มที่มีอัตราการใช้จ่ายสูง เมื่อเทียบกับรายได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นกลุ่มที่มักจะใช้จ่ายเกินตัว นั่นเป็นเพราะคนกลุ่มนี้ค่อนข้างมีความรู้ทางการเงิน จึงไม่มีความกลัวที่จะก่อหนี้ ซึ่งสวนทางกับแนวคิดของคนกลุ่มนี้ที่ต้องการความมั่งคั่งและการมีอิสรภาพทางการเงิน
  

Back to Top