|
|||||||||||||||||
|
|
||||||||||||||||
นักวิทยาศาสตร์พบปูเสฉวนใช้ขยะพลาสติกมาใช้ทำเป็นบ้านมากขึ้น
2024-01-28
นักวิทยาศาสตร์พบปูเสฉวนใช้ขยะพลาสติกมาใช้ทำเป็นบ้านมากขึ้น
ปูเสฉวนทั่วโลกกำลังหันไปใช้ขยะพลาสติกมากขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็น 'บ้าน' หรือเกราะห่อหุ้มร่างกายพวกมัน
ข้อสรุปนี้ได้จากการวิเคราะห์รูปภาพที่ถ่ายโดยผู้ชื่นชอบสัตว์ป่าและเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า พวกเขารู้สึก “ใจสลาย” เมื่อเห็นสัตว์ชนิดนี้ต้องอยู่อาศัยในขยะของพวกเรา โดยสายพันธุ์ปูเสฉนวนจำนวน 2 ใน 3 ถูกบันทึกผ่านภาพถ่ายว่าอยู่ใน “เปลือกหอยเทียม” จากสิ่งของที่มนุษย์ทิ้งขว้าง
การค้นพบนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Science of the Total Environment ซึ่งเป็นวารสารทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ โดยการศึกษานี้ใช้ภาพถ่ายที่แบ่งปันผ่านสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ต่าง ๆ เนื่องจาก มาร์ทา ซูลกิน หนึ่งในนักวิจัยงานศึกษาและเป็นนักนิเวศวิทยาเมืองจากมหาวิทยาลัยวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ อธิบายว่า “เราเริ่มสังเกตเห็นบางอย่างที่ผิดปกติไปจากธรรมชาติโดยสิ้นเชิง”
“แทนที่มันจะถูกประดับประดาด้วยเปลือกหอยทากที่สวยงามอย่างที่เราคุ้นเคย แต่พวกมันกลับมีฝาขวดพลาสติกสีแดงหรือชิ้นส่วนของหลอดไฟอยู่บนหลัง”
มาร์ทา พร้อมด้วยเพื่อนจากมหาวิทยาลัยวอร์ซอ อย่าง ซูซานนา จากีเอลโล และ ลูคัสซ์ ดิลิวสกี้ พบปูเสฉวนจำนวน 386 ตัวที่ใช้เปลือกหอยเทียม ส่วนใหญ่เป็นฝาพลาสติก
“จากการคำนวณของเราพบว่า 10 ใน 16 สายพันธุ์ปูเสฉวนบกทั่วโลกใช้สิ่งนี้เป็นที่พักพิง และสามารถสังเกตได้จากทุกพื้นที่เขตร้อนของโลก” ศ.ซูลกิน อธิบาย
ยังไม่ชัดเจนว่าวัสดุเหล่านี้เป็นอันตรายหรืออาจเป็นประโยชน์ สำหรับเจ้าปูเสฉวนที่บอบบางนี้
“ครั้งแรกที่ฉันเห็นภาพเหล่านี้ ฉันรู้สึกใจสลาย” ศ.ซูลกินบอกกับบีบีซีเรดิโอ 4 ผ่านทางรายการ Inside science “ในขณะเดียวกัน ฉันคิดว่า เราจำเป็นต้องเข้าใจความจริงที่ว่า พวกเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่แตกต่างออกไป และสัตว์ต่าง ๆ กำลังใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่”
ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงบ้านพลาสติก?
งานศึกษานิเวศวิทยาผ่านทางอินเทอร์เน็ตชิ้นนี้เปิดเผยว่า การใช้เปลือกหอยเทียมเป็น “ปรากฏการณ์ระดับโลก”
“เราเห็นมัน [เปลือกหอยเทียม] จากจำนวน 2 ใน 3 ของสายพันธุ์ปูเสฉวนบกทั้งหมด” กล่าวโดย ศาสตราจารย์ซูลกิน “นั่นคือสิ่งที่เราสามารถระบุได้จากภาพถ่ายโดยนักท่องเที่ยว”
นักวิจัยกล่าวว่าการค้นพบนี้ได้เปิดคำถามใหม่ ๆ ว่าสัตว์จำพวกกุ้งบริเวณชายฝั่งเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับพลาสติกที่ใช้แล้ว รวมทั้งทำความเข้าใจว่ามันก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ หรือไม่ โดยนักวิทยาศาสตร์ต้องการศึกษาต่อว่าเรื่องนี้อาจส่งผลต่อวิวัฒนาการของมันอย่างไร
พวกปูเสฉวนได้ปรับตัวและปกป้องร่างกายอันบอบบางจากเปลือกหอยทากที่ถูกทิ้งแล้ว และมันจะต่อสู้เพื่อแย่งชิงเปลือกหอยทากในยามที่ของขาดแคลน
“เราไม่รู้เลยว่าองค์ประกอบในความแปลกใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อมันมากน้อยเพียงใด รวมถึงปูเสฉวนจะต่อสู้กันเองเพื่อเปลือกเทียมจากพลาสติกหรือไม่” ศ.ซูลกิน อธิบาย
นักวิจัยบอกว่าเปลือกหอยทางตามธรรมชาติกำลังมีจำนวนลดลง ดังนั้น เธอจึงสงสัยว่ามันอาจง่ายต่อพวกมันมากกว่า หากจะเลือกใช้เปลือกเทียม และ “เปลือก” พลาสติกก็มีน้ำหนักเบากว่า ซึ่งอาจช่วยให้ปูเสฉวนตัวเล็กที่อ่อนแอสามารถมีชีวิตรอดได้ เพราะมันง่ายต่อการนำติดตัว
แน่นอนว่า มีพลาสติกจำนวนมหาศาลในสภาพแวดล้อมทางทะเลให้สัตว์ได้เลือกใช้ โดยจากงานศึกษาล่าสุดที่พยายามคำนวณปริมาณมลพิษจากพลาสติก พบว่า สามารถประเมินว่า มีพลาสติกอย่างน้อย 171 ล้านล้านชิ้นลอยอยู่ในมหาสมุทรของเรา
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่ามันอาจเพิ่มจำนวนขึ้นเกือบ 3 เท่าภายในปี 2040 หากปราศจากการดำเนินการใด ๆ แต่ยังมีความหวังว่าในปีนี้ อาจได้เห็นประเทศต่าง ๆ ลงนามในสนธิสัญญาระดับโลกที่รอคอยมานาน เพื่อยุติหายนะจากพลาสติก
มาร์ค มิโอดาวนิก ศาสตราจารย์ด้านวัสดุศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน สหราชอาณาจักร บอกกับบีบีซีว่า มนุษย์ควรเรียนรู้จากภาพถ่ายเหล่านี้ “เช่นเดียวกับปูเสฉวน” เขากล่าว “เราควรนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่มากกว่านี้ แทนที่จะทิ้งมัน”
ที่มา : BBCNEWSไทย