|
|||||||||||||||||
|
|
||||||||||||||||
ชาวเน็ตแฉกลโกง ถูกหลอกซื้อไอโฟนทางเฟซบุ๊ก
2015-03-16
สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม หมายเลข 907351 ได้ตั้งกระทู้หัวข้อ “แฉ! กลโกง บีจีโมบาย หลอกขายมือถือ!” ระบุว่า ได้สั่งซื้อไอโฟนมือสองจากแฟนเพจเฟซบุ๊กของร้าน 'บีจีโมบาย' ท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นไอโฟน 5s สีทอง ความจุ 16 กิ๊กกะไบต์ ในราคาหนึ่งหมื่นบาท หลังเห็นโพสต์ประกาศขาย ที่ระบุว่า รับจอง แต่ไม่รับผ่อน ขอคนที่พร้อมชำระสินค้าเท่านั้น แต่สุดท้ายหลังจากที่สั่งซื้อและโอนเงินให้ทางร้านไปแล้ว กลับพบว่าตนเองถูกหลอก และไม่ได้รับสินค้าแต่อย่างใด
สำหรับขั้นตอนการสั่งซื้อนั้น เจ้าของกระทู้ได้ติดต่อร้านผ่านทางแอพพลิเคชั่น ไลน์ พร้อมทั้งแจ้งว่า ต้องการรับสินค้าทางไปรษณีย์ เนื่องจากพักอยู่ที่จังหวัดอยุธยา ซึ่งทางร้านเองก็ได้ตอบกลับ พร้อมส่งภาพถ่ายมายืนยันว่า เคยส่งสินค้าให้กับลูกค้ารายอื่นมาแล้วมากมาย เพื่อให้เจ้าของกระทู้รู้สึกมั่นใจ จากนั้นเจ้าของกระทู้ได้ตัดสินใจโอนเงินให้ทางร้านไป 10,100 บาท พร้อมส่งภาพถ่ายสลิปโอนเงินและที่อยู่สำหรับจัดส่งไปให้ รวมทั้งถามย้ำถึงวันจัดส่งสินค้า ทางร้านได้ตอบกลับว่าจะจัดส่งในวันรุ่งขึ้น แล้วจะส่งหมายเลขอีเอ็มเอสมาให้
ในวันถัดมา เจ้าของกระทู้ได้เข้าไปเช็กดูหน้าเพจเฟซบุ๊กของทางร้าน ก็พบว่า โพสต์ข้อความประกาศขายไอโฟน 5s เครื่องดังกล่าว ยังเปิดรับจองอยู่ และต่อมาไม่นาน หน้าแฟนเพจนี้ก็ถูกลบออกไปจากระบบเฟซบุ๊ก เจ้าของกระทู้รู้สึกว่าผิดปกติ เลยเข้าไปเช็กไลน์ของตนเอง ก็พบว่า ถูกทางร้านบล็อกแอคเคานต์ไปแล้วเช่นกัน จึงมั่นใจว่าตัวเองถูกหลอกแล้วแน่นอน
หลังรู้ตัวว่าถูกหลอกให้ซื้อไอโฟน เจ้าของกระทู้ได้ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ โดยการนำชื่อเจ้าของบัญชีที่ได้โอนเงินไปให้ ไปค้นหาในกูเกิล จนพบว่า เจ้าของบัญชีมีชื่อเคยผ่านการประกวดโครงการของโรงเรียนในจังหวัดลำพูน จึงได้ติดต่อไปพูดคุยกับคุณครูที่เป็นผู้รับสาย ซึ่งรับปากว่าจะตรวจสอบให้ ส่วนเจ้าของกระทู้ยังได้เดินทางไปแจ้งความไว้ด้วย จากการตรวจสอบ พบว่า นักเรียนที่เป็นเจ้าของบัญชี ไม่ทราบเลยว่าตนเองถูกหลอกเช่นกัน เนื่องจากน้องได้ไปสมัครทำงานพิเศษทางอินเทอร์เน็ต หลังพบโฆษณาที่ระบุว่า ทำงานวันละ 2-3 ชั่วโมงแล้วจะได้เงินเยอะๆ ซึ่งตอนที่สมัคร ได้ยื่นเอกสารเลขบัญชีธนาคารแนบไปด้วย และในวันเดียวกันกับที่เจ้าของกระทู้ได้โอนเงินซื้อไอโฟนนั้นเอง คนร้ายได้โทรไปหาน้อง บอกว่า ให้ถอนเงินออกมาจากบัญชี หกหมื่นบาท และเก็บไว้ที่ตัวเอง แปดพันบาท จากนั้นให้เอาเงินหกหมื่นบาทไปซื้อบัตรทรูมันนี่ และให้บอกเลขบนบัตรกับคนร้าย นอกจากนี้คุณครูยังได้สั่งให้นักเรียนรายนี้คืนเงินให้กับเจ้าของกระทู้ และไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน
สำหรับ e-wallet หรือ กระเป๋าเงินอิเล็คทรอนิกส์ ที่เป็นช่องทางในการเบิกถอนเงินของมิจฉาชีพ หมายถึง ระบบที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องเปิดบัญชีกระเป๋าเงิน โดยระบบจะทำการโอนเงินระหว่างบัญชีที่เปิดไปเข้าบัญชีปลายทาง ซึ่งในการโอนเงินแต่ละครั้งจะมีการคิดค่าธรรมเนียม ที่คนไทยยุคนี้คุ้นเคยมากที่สุด เมื่อพูดถึง e-wallet คือ บัตรเติมเงินสด ต่างๆ ทั้งจากผู้ให้บริการโทรศัพย์มือถือ หรือ บัตรที่ใช้ซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ ในการชำระค่าสินค้าและบริการ เช่น เติมเกมออนไลน์กว่า 70 เกม, เติมเงินค่าโทรศัพท์, เติมเงินบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ, ซื้อชั่วโมงอินเตอร์เน็ต, WI-Fi ,Pre-Pay hi-speed internet, เติมเงินเข้าบัญชี และซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น ปัจจุบันเพื่อให้สะดวกต่อการใช้บริการได้มีการพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นออกมา แอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยให้จ่ายบิลผ่านสมาร์ทโฟน จากที่ไหนก็ได้ จะที่บ้าน ที่ทำงาน หรือกระทั่งหน้าตู้ไปรษณีย์ ชนิดที่ว่ารับบิล จ่ายได้เลย
ตัวอย่าง ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ อันดับ 1 ใน 3 ของไทยได้มีการในบริการ e-wallet เช่นเดียวกัน ความสามารถหลักๆ คือ
1. บริการเติมเงิน ก่อนจะเริ่มใช้งานเราต้องลงทะเบียนขอเปิดบัญชีด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือของเราเสียก่อน แล้วจึงทำการเติมเงินจากค่าเงินจริงเข้าสู่บัญชีได้ การเติมเงินเข้าบัญชี สามารถทำได้ตามจุดต่างๆ ที่ผู้ให้บริการกำหนด และที่ตู้เอทีเอ็มทุกธนาคาร หรือเติมเงินผ่านธนาคารซึ่งมีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการขึ้นอยู่กับธนาคารแต่ละแห่ง
2. บริการบริการชำระบิล โดยตัวแอปพลิเคชั่นจะมีฟังก์ชัน Scan & Pay เพิ่มเข้ามา โดยเราสามารถใช้กล้องถ่ายรูป สแกนตัวใบแจ้งค่าใช้บริการต่างๆ เพื่อให้แอพพลิเคชันรับรู้ว่าเรากำลังจะจ่ายบิลค่าบริการอะไรได้
3. บริการสุดท้ายที่เป็นไฮไลต์ คือบริการโอนเงิน ผู้ใช้สามารถโอนเงินระหว่างบัญชีกันเอง หรือโอนเข้าบัญชีธนาคารปกติได้ผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ มีจุดเด่นตรงที่เราสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือเป็นหมายเลขบัญชีรับโอนปลายทางได้ ทำให้เสมือนกับว่า เรามีตู้ ATM อยู่กับตัว อยากใช้เงินตอนไหนก็สามารถกดโอนออกมาจากโทรศัพท์เข้าบัญชีธนาคาร แล้วไปกดเงินออกมาใช้ผ่านตู้ ATM ปกติได้
ทั้งนี้ ทางไทยรัฐจึงได้สอบถามไปยัง นาวาเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการจับกุมปราบปรามอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ต ถึงความเห็นเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงทางอินเตอร์เน็ต